แจกสูตรบริหารเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน ในวันเงินเดือนออก

28/02/2567
การเงิน-ธุรกิจ

สูตรบริหารเงิน

ความมั่งคั่ง และมั่นคงในชีวิตเริ่มต้นที่การออม คำพูดนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง แม้ว่าในปัจจุบัน การออมเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการวางแผนการลงทุนควบคู่กันไปด้วยก็ตาม แต่เงินก้อนที่จะนำมาลงทุนก็มักจะเกิดจากการออมอยู่ดี นี่จึงเป็นสาเหตุที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรมีเทคนิคการออมเงินที่ดี เพื่อจะได้มีเงินก้อนสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินในอนาคต ใครที่ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มวางแผนก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีสูตรบริหารเงินดีๆ มาฝากกันในวันนี้ 

5 สูตรบริหารเงินในวันเงินเดือนออก แบ่งเงินง่าย มีเงินเก็บฉุกเฉิน

สูตรบริหารเงิน

หลายคนอาจจะรู้สึกกังวลในเรื่องเทคนิคการออมเงิน เพราะคิดว่าจะต้องบังคับตัวเองให้ประหยัดในทุกเรื่องจนไม่มีความสุขหรือเปล่า ใครที่กำลังมีความคิดแบบนี้ ขอบอกเลยว่าไม่ต้องเครียดไป เพราะสูตรบริหารเงินที่เรานำมาฝากในวันนี้ มีให้เลือกกันถึง 5 แนวทาง ใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าแนวทางไหนเหมาะกับตัวเอง ก็สามารถนำไปปรับใช้กันได้ตามสะดวก รับรองมีเงินเหลือเก็บไปต่อยอดแบบมีความสุขแน่นอน 

1. สูตรบริหารเงิน 50-30-20

เทคนิคการออมเงินสูตรแรกนี้ เหมาะมากๆ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นออมเงิน และรู้สึกว่าไม่อยากบังคับตัวเองให้ประหยัดการใช้จ่ายทุกอย่างจนเครียด เรามาดูกันดีกว่า 

  • เงินส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายประจำวัน (50%) : เมื่อเงินเดือนออก ให้ทำการหักเงินส่วนแรกนี้ออกจากเงินเดือนทันที เพื่อให้รู้ว่าเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เท่าไหร่ในการดำรงชีวิต เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดมิเนียม ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้เงินพ่อแม่ หรือการผ่อนชำระอื่นๆ 
  • เงินส่วนที่ 2 กิจกรรมนันทนาการ (30%) : ในส่วนถัดมา คือเงินที่ควรแบ่งไว้เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง เพราะอะไรที่ตึงไปก็จะไม่มีความสุข การกันเงินไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการไปกินร้านอาหารโปรด ซื้อของที่อยากได้ หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ก็เป็นแรงกระตุ้นที่ดีในการสร้างเป้าหมายในชีวิตให้กับมนุษย์เงินเดือนเช่นกัน 
  • เงินส่วนที่ 3 เก็บออมฉุกเฉิน (20%) : เงินส่วนสุดท้ายนี้ ควรแบ่งเก็บไว้เป็นเงินเย็นโดยห้ามไปแตะเด็ดขาด เพราะเงินก้อนนี้ควรจะเป็นเงินเย็นที่เก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือหากมีความรู้ในด้านการเงินมากพอ ก็อาจจะนำไปลงทุนต่อยอดแทนการฝากประจำได้เช่นกัน จึงเป็นการฝึกวินัยไปในตัวคู่กับการเก็บออม

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 25,000 บาท หักประกันสังคมแล้วจะเหลือ 24,250 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวันที่ 12,125 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างความสุขให้กับตัวเองที่ 7,275 บาท และที่เหลือก้อนสุดท้าย 4,850 บาทเป็นเงินที่ควรออม

2. สูตรบริหารเงิน 80-20

เทคนิคการออมเงินสูตรถัดมา สำหรับคนที่ไม่อยากปวดหัวกับเรื่องแยกค่าใช้จ่ายส่วนตัว กับค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงออกจากกัน สามารถแบ่งเป็น 2 ก้อนง่ายๆ ได้แบบนี้เช่นกัน 

  • เงินส่วนแรก ค่าใช้จ่ายทั้งหมด (80%) : เป็นการแบ่งเงินค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ หรืออื่นๆ ไปเป็นเงินก้อนเดียว
  • เงินส่วนสุดท้าย เงินเก็บออมฉุกเฉิน (20%) : เงินตรงส่วนนี้ให้ทำการหักออกก่อนทันที เมื่อได้รับเงินเดือนมาแล้ว แล้วนำไปเก็บออม หรือลงทุนเพิ่มเติมได้ตามสะดวก เพราะเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือนั้นไม่ได้แยกกันชัดเจน จึงควรหักเงินออมแยกบัญชีไว้ก่อน 

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 25,000 บาท หักประกันสังคมแล้วจะเหลือ 24,250 บาท ให้ทำการหักเงินออมออกไปก่อน 4,850 บาททันที เพราะเงินค่าใช้จ่ายที่เหลืออีก 19,400 บาทสำหรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ไม่แยกกัน จะได้ใช้แบบสบายใจ ไม่ไปเผลอหยิบส่วนที่เก็บออมออกมาใช้ 

3. สูตรบริหารเงิน 10-20-30-40

เทคนิคการออมเงินสูตรที่สามนี้ เหมาะสำหรับคนที่อยากเห็นภาพค่าใช้จ่ายของตัวเองมากขึ้น สูตรนี้จะตอบโจทย์อย่างมาก เพราะจะเป็นการแบ่งแยกเงินก้อนที่แบกรับภาระในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และอื่นๆ ออกจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

  • เงินส่วนที่ 1 ให้รางวัลชีวิต (10%) : เป็นเงินส่วนที่แบ่งไว้ใช้ซื้อของที่อยากได้ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเครื่องสำอาง กระเป๋า นาฬิกา หรืออะไรที่อยากได้แบบไม่เกินตัว
  • เงินส่วนที่ 2 เงินเก็บออมฉุกเฉิน (20%) : เงินส่วนนี้ให้แยกออกจากเงินใช้จ่ายกินเที่ยวชัดเจน ให้แบ่งเก็บเป็นเงินเย็น หรือนำไปลงทุนต่อยอด
  • เงินส่วนที่ 3 ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ (30%) : เงินส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายภาระชิ้นใหญ่อย่าง บ้าน รถ คอนโดมิเนียม เพื่อให้เห็นภาระการใช้จ่ายได้ชัดเจนมากขึ้น 
  • เงินส่วนที่ 4 ค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน (40%) : เงินส่วนนี้เป็นคิดรวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งหมดในแต่ละเดือน และหักไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแบบตายตัวไปเลย

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 25,000 บาท หักประกันสังคมแล้วจะเหลือ 24,250 บาท ควรหักเงิน 9,700 บาทออกเป็นค่าใช้จ่ายตายตัวสำหรับชีวิตประจำวัน อีก 7,275 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้าน รถ หรือคอนโดมิเนียม และแบ่งส่วนที่สามอีก 4,850 บาท เป็นเงินเก็บออม ในส่วนที่เหลืออีก 2,425 จะเป็นเงินสำหรับซื้อของให้ตัวเองก็ได้ หรือถ้าไม่ได้ใช้ในส่วนนี้ทุกเดือน ก็เพิ่มเข้ามาเป็นเงินออมได้อีกส่วน 

4. สูตรบริหารเงินแบบลี กาชิง 30-20-15-10-25

เทคนิคการออมเงินสูตรนี้ มาจากอดีตมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเกาะฮ่องกง ลี กาชิง ที่เคยออกมาแชร์เคล็ดลับในการบริหารเงินให้กับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมาทำงาน ว่าต้องเก็บออม และจัดสรรปันส่วนอย่างไรให้มีความมั่งคั่งในอนาคตได้ 

  • เงินส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน (30%) : ลี กาชิงได้กล่าวไว้ว่า ที่แบ่งเงินไว้ในส่วนของค่าใช้จ่ายประจำวันที่ไม่เยอะ เป็นเพราะว่าวัยหนุ่มสาวนั้นควรกินแบบประหยัด เลี่ยงการใช้จ่ายค่าอาหารที่ฟุ่มเฟือยเกินไป และเน้นซื้อมาทำกินเองจะดีกว่า 
  • เงินส่วนที่ 2 สำหรับสร้างเพื่อนใหม่ (20%) : เงินในส่วนนี้ คือการออกไปหาคอนเนคชัน มิตรภาพใหม่ๆ ที่ช่วยให้มุมมองของชีวิตเรากว้างไกลขึ้น โดยเฉพาะในการต่อยอดเรื่องการงาน 
  • เงินส่วนที่ 3 การหาความรู้ (15%) : การแบ่งเงินมาหาความรู้ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยต่อยอดความคิด และทัศนคติมุมมองของเราได้ จึงควรแบ่งเงินไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการซื้อหนังสือ หรือสมัครคอร์สเรียนออนไลน์
  • เงินส่วนที่ 4 การท่องเที่ยว (10%) : สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น การออกไปท่องโลกกว้างด้วยตัวเอง ทำให้เราได้ประสบการณ์ และแนวคิดใหม่ๆ ในการมาปรับใช้ชีวิต จึงเป็นสิ่งที่คนช่วงวัยหนุ่มสาวควรให้ความสำคัญ
  • เงินส่วนที่ 5 การเก็บออมและลงทุน (25%) : เงินส่วนสุดท้ายนี้ ให้แบ่งไว้เป็นการเก็บออม และนำไปลงทุน เพราะดอกเบี้ยการลงทุนในความหมายของ ลี กาชิง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเงินที่งอกเงยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงประสบการณ์ที่เราจะได้จากการบริหารเงิน โดยเฉพาะการนำเงินออมนี้ไปลงทุนทำธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง 

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 25,000 บาท หักประกันสังคมแล้วจะเหลือ 24,250 บาท ควรแบ่งเงินเพียง 7,275 บาท ไว้เป็นค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน อีก 6,062 บาท เป็นการเก็บออม และลงทุน 4,850 บาทเป็นการหาคอนเนคชัน 3,637 บาท เป็นการหาความรู้ และ 2,425 บาท เป็นการท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์อย่างไม่ฟุ่มเฟือย 

5. เทคนิคการออมเงินด้วยทฤษฎีโหล 6 ใบ

นอกจากสูตรบริหารเงินแบบต่างๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้แล้ว ทฤษฎีโหล 6 ใบ ก็เป็นอีกแนวทางในการออมเงินสามารถทำได้ง่ายเช่นกัน โดยแบ่งโหลในการจัดสรรปันส่วนเงินเดือนเราได้ ดังนี้ 

  • เงินใช้จ่ายที่จำเป็น (55%) : เงินส่วนนี้ควรเป็นค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเดินทางที่ต้องใช้เป็นประจำทุกวัน
  • เงินให้รางวัลชีวิต (10%) : เงินส่วนนี้ควรใช้สำหรับซื้อของที่อยากได้ หรือไว้สำหรับดูหนัง ฟังเพลง พักผ่อนหย่อนใจ
  • เงินเพื่ออิสรภาพทางการเงิน (10%) : เงินส่วนนี้ควรแบ่งออกมาลงทุน เพื่ออิสรภาพการเงินในระยะยาว
  • เงินเพื่อหาความรู้ (10%) : เงินส่วนนี้ควรใช้หาความรู้ ด้วยการซื้อหนังสือ หรือหาคอร์สเรียนพัฒนาทักษะ
  • เงินเพื่อการใช้จ่ายระยะยาว (10%) : เงินส่วนนี้ควรแบ่งเก็บเพื่อสำรองเหตุฉุกเฉินในอนาคต หรือไว้ทำประกันชีวิต 
  • เงินเพื่อสังคม (5%) : เงินส่วนนี้ควรแบ่งไว้บริจาค เพื่อตอบแทนกลับสู่สังคม เมื่อเหลือจริงๆ

สรุปบทความ แจกสูตรบริหารเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน ในวันเงินเดือนออกการเป็นมนุษย์เงินเดือนในยุค

สูตรบริหารเงิน

การเป็นมนุษย์เงินเดือนในยุคปัจจุบัน จะต้องวางแผนการบริหารจัดการเงินให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องของเทคนิคการออมเงิน ที่ทุกคนควรใช้สูตรบริหารเงินในการจัดการเมื่อเงินเดือนออก เพราะไม่อย่างนั้น อาจจะไม่เหลือเงินเก็บไว้สำรองยามฉุกเฉินเอาได้ ส่วนใครที่กำลังมีปัญหาในด้านการเงิน และจำเป็นจะต้องใช้เงินก้อนจริงๆ สินเชื่อพนักงานประจำ ก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง ที่คนทำงานกินเงินเดือนสามารถหาเงินก้อนมาหมุนเวียนยามจำเป็นได้

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

Tags: มนุษย์เงินเดือน สินเชื่อพนักงานประจำ บริหารเงิน

พร้อมรู้กับพรอมิส