ตกงานกะทันหันอย่าเพิ่งตกใจ รีบทำ 6 สิ่งนี้ทันที

28/02/2567
การเงิน-ธุรกิจ

ตกงานกะทันหัน

วิกฤตโรคระบาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือตัวการที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง จนส่งผลให้ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มหายตายจากกันไปมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจในบ้านเราที่โดนผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่าการปิดตัวลงของภาคธุรกิจ ย่อมส่งผลให้พนักงานกินเงินเดือนต้องตกงานกะทันหัน แบบไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจกันเลย หลายคนที่กำลังประสบปัญหาตกงาน อาจจะรู้สึกตกใจจนไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ทุกเดือนแบบเลี่ยงไม่ได้ วันนี้เราจะมาแนะนำแนวทางในการรับมือเมื่อต้องตกงานกะทันหันให้ได้รู้กัน

6 สิ่งที่ต้องรีบทำ เมื่อตกงานกะทันหัน

ตกงานกะทันหัน

เมื่อต้องตกงานกะทันหัน สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการตั้งสติให้ดีก่อน แล้วค่อยทำตามข้อมูลด้านล่างนี้ไปทีละขั้นตอน จะได้ไม่ตกหล่นในเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะเราเข้าใจว่าการตกงานแบบฟ้าผ่า บางทีก็ทำให้สมองตื้อไปดื้อๆ แบบคิดอะไรไม่ออกเหมือนกัน มาไล่เรียงกันไปทีละขั้นตอนดีกว่า 

1. รีบแจ้งประกันสังคม

อย่างที่เรารู้กันดีว่า การทำงานในบริษัทที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง พนักงานทุกคนจะต้องได้ทำประกันสังคมอยู่แล้ว เงินที่เราจ่ายสมทบเข้ากองทุนในทุกเดือน จะถูกนำมาชดเชยให้ในกรณีที่เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และกรณีที่ว่างงานด้วยเช่นกัน 

 

เราจึงมีสิทธิ์ในการยื่นเรื่องเพื่อรับเงินชดเชยในกรณีที่ว่างงาน แต่จะมีระยะเวลาในการลงทะเบียนเพียง 30 วัน หลังจากตกงานเท่านั้น และผู้ที่จะใช้สิทธิ์ได้จะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยจะต้องเป็นการตกงานโดยไม่มีความผิด เช่น ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือหมดสัญญาจ้าง และจำเป็นจะต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนเงินที่ได้รับชดเชย จะแบ่งตามกรณี ดังนี้

 

กรณีลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง : จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างที่ว่างงานไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำที่เดือนละ 1,650-15,000 บาท ซึ่งก็
คือคนที่เคยส่งเงินสมทบขั้นต่ำ 83 บาท ไปจนถึงคนที่ส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 750 บาทเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากผู้ประกันตนมีเงินเดือนที่ 20,000 บาท ก็จะได้รับเงิน 6,000 บาทต่อเดือน 
กรณีถูกเลิกจ้าง : จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงานที่ไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนกับกรณีลาออกที่ 1,650-15,000 บาท หรือก็คือ คนที่เคยส่งเงินสมทบขั้นต่ำ 83 บาท ไปจนถึงคนที่เคยส่งเงินสมทบ 750 บาท ตัวอย่างเช่น หากผู้ประกันตนมีเงินเดือนที่ 20,000 บาท ก็จะได้รับเงิน 10,000 บาทต่อเดือน 

 

*หมายเหตุ*
กรณีที่ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้างเกินกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีปฏิทิน จะยื่นขอเงินทดแทนรวมกันได้ไม่เกิน 180 วันเท่านั้น และในกรณีที่ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีปฏิทิน แต่ไม่มีการถูกเลิกจ้าง จะยื่นขอเงินทดแทนรวมกันได้ไม่เกิน 90 วันเท่านั้น 

2. เช็กสถานะทางการเงิน เพื่อวางแผนการเงิน

เมื่อตกงานกะทันหัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสถานะทางการเงิน เราควรคำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือนทั้งหมดให้ดี และนำมาเปรียบเทียบกับเงินชดเชยที่ได้รับจากการถูกเลิกจ้าง รวมไปถึงการขอเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมรวมเข้าไปด้วย แล้วจึงค่อยวางแผนการใช้จ่ายอีกที ว่าตรงจุดไหนที่เราสามารถประหยัดขึ้นได้บ้าง และเงินตรงส่วนที่เหลือนี้จะอยู่ได้ประมาณกี่เดือนหากยังไม่มีรายได้ประจำเข้ามา 

3. ติดต่อบัตรเครดิตเพื่อประนอมหนี้

ในกรณีที่ยังเป็นหนี้ค้างชำระบัตรเครดิต การนำเงินก้อนที่ได้รับจากการชดเชยไปโปะทีเดียวอาจจะไม่คุ้ม เพราะจะไม่มีเงินสำรองในการใช้จ่ายชีวิตประจำวัน จึงควรเจรจาต่อรองกับทางธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อขอจ่ายแต่เพียงดอกเบี้ยไปก่อนเท่านั้นจนกว่าสภาพคล่องทางการเงินจะกลับมาเป็นปกติ

4. รีบอัปเดตเรซูเม่ ยื่นสมัครงาน

ในเมื่อรายได้ประจำหดหายไปจากการตกงานกะทันหัน มีแต่รายจ่ายเป็นหลัก หนทางเดียวที่จะช่วยให้กลับมามีรายได้ที่แน่นอนทุกเดือน คือการรีบยื่นสมัครงานให้เร็วที่สุดก่อน โดยอาจจะไม่ต้องเลือกงานที่ตรงใจที่สุดก็ได้ เพราะเรากำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินอยู่ อาจจะค่อยย้ายงานอีกทีเมื่ออะไรๆ ลงตัวแล้วจะดีกว่า 

5. หารายได้เสริม

ในระหว่างที่กำลังยื่นสมัครหางานประจำ เราสามารถหางานฟรีแลนซ์เพื่อเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าใช้จ่ายประจำวันได้ในระหว่างที่ตกงานกะทันหันได้ ไม่ว่าจะเป็น งานเขียนบทความออนไลน์ ตัดต่อกราฟิก หรือแม้แต่การขายอาหารแบบเดลิเวอรี่ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้ทุนตั้งต้นมากนัก และดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นอาชีพหลักโดยไม่ต้องกลับไปทำงานประจำอีกเลยก็ได้เช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ 

6. จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หลายบริษัทที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน มักจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการช่วยออมระยะยาว โดยการหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของพนักงานออกมาเหมือนกับประกันสังคม และนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายสมทบ
เพิ่มร่วมด้วย โดยส่วนมากจะอัตราเงินสมทบที่ 2%-15% เพื่อให้พนักงานมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อออกจากงานไปแล้ว 

 

จึงเป็นเงินก้อนสำรองอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเราได้เมื่อตกงานกะทันหัน แต่จะมีเงื่อนไขในเรื่องของการนำไปคำนวณภาษีแตกต่างกันไปตามอายุงาน ดังนี้ 

 

ลูกจ้างมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี : ลูกจ้างสามารถถอนเงินออกจากกองทุนได้แบบไม่เสียภาษี จึงเป็นเงินก้อนใหญ่อีกหนึ่งก้อนที่ช่วยได้ในภาวะฉุกเฉิน
ลูกจ้างยังอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนมากกว่า 5 ปี : กรณีนี้ลูกจ้างไม่ควรถอนเงินออกจากกองทุน เพราะจะต้องนำไปคำนวณรวมกับภาษีรายได้ และทำให้การออมนั้นขาดช่วง จึงไม่ควรเลือกที่จะถอนเงินออกมา แต่ควรย้ายเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุน RMF ที่ตั้งมาเพื่อรองรับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทน 

สรุปบทความ ตกงานกะทันหันอย่าเพิ่งตกใจ รีบทำ 6 สิ่งนี้ทันที

ตกงานกะทันหัน

แม้ว่าการถูกเลิกจ้าง หรือตกงานกะทันหันจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเอง แต่เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงควรเตรียมความพร้อมในการรับมือทุกช่วงชีวิตไว้เสมอ สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีช่วงเวลายากลำบาก หากต้องการเพิ่มความรู้ด้านการเงินเพื่อนำมาเป็นแนวทางรับมือในตอนตกงาน สามารถอ่านบทความอื่นๆ ของสินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสเพิ่มเติมได้นะ
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

Tags: สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อพรอมิส มนุษย์เงินเดือน

พร้อมรู้กับพรอมิส