เตือนภัยมิจฉาชีพปลอมเป็นพรอมิส หลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียม

12/10/2566
สินเชื่อน่ารู้

พรอมิสเตือนภัยมิจฉาชีพหลอกโอนเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ

เตือนภัยมิจฉาชีพให้กู้เงิน

 

ข่าวมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียมสมัครสมาชิกสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์มีให้ได้ยินอยู่เสมอ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้จะคอยแฝงตัวมาตามสื่อที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น เว็บไซต์, SMS, อีเมล, Facebook และ LINE ทำให้เราไม่เอะใจเลยว่าข้อความที่ตัวเองได้รับนั้นเป็นข้อความที่ถูกส่งมาจากมิจฉาชีพ เพราะสื่อต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเข้าถึงง่าย และเป็นสื่อที่นิยมใช้กันเพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร ดังนั้นมิจฉาชีพจึงเลือกใช้ช่องทางเหล่านี้ในการแฝงตัวเข้าไป โดยการสร้างบัญชีปลอมขึ้นมาและหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการสมัครสินเชื่อ เป็นต้น ดังนั้นควรตั้งสติและระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลแปลกหน้า ที่สำคัญต้องสังเกตให้ดีว่าสื่อต่างๆที่เราพบเห็นนั้นเป็นของจริงหรือไม่ โดยสังเกตได้หลายวิธี เช่น เว็บไซต์พรอมิสของจริงนั้น URL จะต้องเป็น https://www.promise.co.th เท่านั้น

 

 

ตัวอย่างเว็บไซต์ปลอม

 

หรือ Social Media บัญชีจริงนั้นก็จะต้องมีเครื่องหมายถูกด้านหลังชื่อบัญชีเท่านั้น

 

ตัวอย่าง Facebook ปลอมและจริง


วิธีการหลอกลวงข้อมูลส่วนบุคคลและกลลวงให้โอนเงินค่าธรรมเนียม

วิธีการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลและการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่านทาง ช่องทางออนไลน์ต่างๆมิจฉาชีพมักจะคัดลอก โลโก้, รูปภาพ หรือแม้กระทั่งคัดลอกเว็บไซต์จากผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่น่าเชื่อถือ แล้วตั้งชื่อให้เหมือนหรือคล้ายกับของจริง และในบางครั้งก็แทบแยกไม่ออกว่าอันไหนของจริงหรืออันไหนของปลอม หลังจากนั้นจะใช้วิธีโปรโมทต่างๆ เช่น การโฆษณาออนไลน์ต่างๆ, การส่ง SMS เป็นต้น เมื่อลูกค้าคลิ๊กลิ้งก็จะเข้าไปสู่ช่องทางปลอมที่มิจฉาชีพสร้างไว้ ทั้งนี้มิจฉาชีพมักจะจูงใจด้วยคำโฆษณาที่เหลือเชื่อเกินจริง เช่น ไม่ต้องเช็กเครดิตบูโร อนุมัติง่ายใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

ตัวอย่างเพจ Facebook ปลอม


อีกวิธีหนึ่งคือจะใช้การชวนด้วยโปรโมชั่นที่น่าสนใจ เช่น การแจกของรางวัล ดอกเบี้ยพิเศษ หรือสิทธิพิเศษที่น่าสนใจ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อแล้ว จะให้ส่งหน้าบัตรประชาชนโดยอ้างว่าต้องนำไปทำเรื่องเอกสารการกู้เงิน หลังจากนั้นจะมีการแจ้งลูกค้าว่าผ่านการพิจารณาสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว และขอให้จ่ายค่าธรรมเนียมโดยให้โอนเงินผ่านบัญชี เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้กับมิจฉาชีพเรียบร้อยแล้ว จะถูกบล็อกให้ไม่สามารถติดต่อกลับหาผู้ที่แอบอ้างเป็นตัวแทนสินเชื่อได้อีกเลย ซึ่งพรอมิสขอกราบเรียนลูกค้าทุกท่านว่า ณ ขณะนี้เรายังไม่มีการเปิดใช้งานบัญชีใดๆ บนช่องทาง LINE ดังนั้นหากมีการส่งข้อความผ่าน LINE โดยอ้างตนเองว่าเป็นตัวแทนสินเชื่อพรอมิส ขอให้คิดไว้ก่อนเลยว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากพรอมิสได้มีการเปิดใช้งานบัญชี LINE Official เพื่อเป็นช่องทางการติดต่ออย่างเป็นทางการเมื่อไร จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง

 

คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีวิธีการหลอกให้ผู้เสียหายให้หลงเชื่ออย่างไรบ้าง

 

1. มีการส่งข้อความโดยตรงไปหาลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้บริการของพรอมิส

โดยลูกค้าจะได้รับข้อความชวนเชื่อเกี่ยวกับการให้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลพร้อมให้เพิ่มเพื่อน ซึ่งปกติแล้วพรอมิสจะไม่มีการติดต่อลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการของพรอมิสเพื่อเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล* ไม่ว่าจะเป็นทางช่องทาง SMS, LINE, FACEBOOK หรือช่องทางการสื่อสารใดๆ ทั้งสิ้น

*กรณีที่ลูกค้าทำสัญญากับพรอมิสแล้ว จะมีการติดต่อจากบริษัทผ่านทางข้อความ SMS หรือโทรศัพท์

2. มีการตอบคอมเมนต์บนหน้าเพจที่เป็นทางการ (เพจจริง)

ในข้อนี้ลูกค้าต้องสังเกตดีๆ ว่ารูปโปรไฟล์ที่เข้ามาตอบคอมเมนต์นั้นเป็นของเพจจริงๆ หรือไม่? เนื่องจากมิจฉาชีพบางคนอาจจะคัดลอกรูปโปรไฟล์ของเพจจริงมาใช้ และข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือมิจฉาชีพจะเชิญชวนให้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง LINE ที่สำคัญที่สุดหากเป็นการตอบคอมเมนต์จากเพจจริง หลังชื่อเพจจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้า!

ตัวอย่างเฟซบุ๊กปลอม


3. ดึงดูดใจให้สมัครสินเชื่อด้วยโปรโมชั่นเด็ด

หากลูกค้าเผลอกดเพิ่มเพื่อนกับกลุ่มมิจฉาชีพ ลูกค้าจะได้รับข้อความชวนให้สมัครสินเชื่อโดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจต่างๆ เช่น ไม่เช็กเครดิตบูโร, อนุมัติไว, ให้วงเงินสูง เป็นต้น แล้วดึงดูดใจให้หลงเชื่อด้วยโปรโมชั่นลุ้นทองคำ, สมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เป็นต้น

4. ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

หลังจากที่ลูกค้าตกหลุมพรางที่มิจฉาชีพวางไว้ ลูกค้าจะถูกร้องขอให้ถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายรูปสมุดบัญชีที่แสดงหมายเลขบัญชี อ้างว่าเพื่อนำไปใช้ในการทำเอกสารการกู้เงิน

5. พร้อมให้โอนเงินค่าธรรมเนียมเอกสาร

หลังจากลูกค้าส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้มิจฉาชีพ จะมีข้อความแจ้งว่าลูกค้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดทำเอกสารและค่าธรรมเนียมในการส่งเอกสาร พร้อมขอให้ลูกค้าโอนเงินและส่งหลักฐานการโอนเงิน หากลูกค้าหลงเชื่อโอนเงินให้แล้วจะถูกบล็อกบัญชี LINE และไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

 

ตัวอย่างเพจปลอม


เมื่อมั่นใจว่าบุคคลที่ท่านกำลังสนทนาด้วย หรือพบเจอเพจปลอมของกลุ่มมิจฉาชีพ แนะนำให้กดปุ่มรายงานทันทีพร้อมบล็อกบัญชีปลอมดังกล่าวเพื่อไม่ให้บัญชีปลอมนั้นส่งข้อความมาถึงเราหรือพบเห็นโฆษณานั้นอีก นอกจากนี้หากพบเจอการหลอกลวงใน LINE หรือ เว็บไซต์ปลอม สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ Promise Thailand Official Facebook Page m.me/promise1751.smbccf ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ต้องการสอบถามผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อส่วนบุคคลต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนว่าบุคคลที่เรากำลังสนทนาด้วยนั้น เป็นแอดมินตัวจริงของผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นๆ หรือไม่? ที่สำคัญต้องมีสติในการสนทนาและระมัดระวังในการส่งข้อมูลส่วนบุคคล โดยปกติแล้วสินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสจะไม่มีการถาม ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ใดๆ
 

Tags: พรอมิสเตือนภัย หลอกโอนเงิน

พร้อมรู้กับพรอมิส