ติดบูโรแก้ไขอย่างไรดี พร้อมแนะนำวิธีล้างประวัติเครดิตบูโร
เครดิตบูโร หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภท ซึ่งการติดเครดิตบูโรในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงการถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์แต่อย่างใด แต่การติดเครดิตบูโรจะหมายถึงการที่ผู้ขอสินเชื่อ มีประวัติค้างชำระ หรือชำระหนี้ล่าช้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารจะมองว่า เราไม่มีความสามารถในการชำระหนี้นั่นเอง
มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนก็คงจะอยากรู้แล้วว่า เครดิตบูโรติดกี่ปี แล้วติดบูโรแก้ไขยังไง ในบทความนี้เราจึงได้รวบรวมวิธีล้างประวัติเครดิตบูโร มาให้คุณได้ทราบกัน เพื่อจะได้จัดการประวัติเครดิตบูโร และมีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
การล้างประวัติเครดิตบูโร คืออะไร
การล้างประวัติเครดิตบูโร คือ การปิดบัญชีหนี้เสียเพื่อล้างประวัติทางการเงินที่มีการติดเครดิตบูโรอยู่ ซึ่งผู้ที่ต้องการล้างประวัติเครดิตบูโร จะต้องทำเรื่องเจรจาขอชำระหนี้ที่ค้างไว้กับธนาคาร โดยจ่ายคืนเป็นงวด ๆ ให้คืนสถานะเครดิตเป็น “ไม่ติดหนี้ชำระ” ภายในระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่หนี้สะสมก้อนแรก เมื่อครบกำหนดแล้วจึงจะสามารถล้างประวัติเครดิตบูโรได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดของสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วยเช่นกัน
วิธีล้างประวัติเครดิตบูโร
ติดบูโรแก้ไขยังไง? คำถามที่คาใจของหลาย ๆ คน เพราะแม้ว่าการล้างเครดิตบูโร จะเป็นเพียงการเจรจาขอชำระหนี้ที่ค้างไว้กับธนาคาร แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นล้างประวัติเครดิตบูโรยังไง ซึ่งในส่วนนี้เราจึงได้รวบรวม 7 วิธีล้างประวัติเครดิตบูโร พร้อมแนะนำวิธีขอสินเชื่อให้ผ่าน มาเป็นแนวทางให้กับคุณ ไปดูกันเลย
1. ตรวจสอบเครดิตบูโรก่อน
สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อ หรือเมื่อถูกปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าติดเครดิตบูโรคือ การตรวจสอบเครดิตบูโรของตัวเอง เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ทางการเงินของคุณ ซึ่งการตรวจสอบเครดิตบูโรนี้จะช่วยให้คุณสามารถตรวจเช็กความถูกต้องของข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เป็นต้น
นอกจากนี้คุณยังสามารถตรวจสอบได้ว่า คุณมีหนี้งอกที่ไม่ใช่หนี้ของตัวเองหรือไม่ มีประวัติค้างชำระไหม หากเคยมีการค้างชำระแต่ชำระหนี้หมดไปแล้ว มีสถานะปิดบัญชีและยอดหนี้เป็นศูนย์หรือไม่
2. แก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด
เมื่อคุณตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรของตัวเองเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามีข้อมูลเครดิตของตัวเองไม่ถูกต้อง หรือมีการรายงานข้อมูลเครดิตผิดพลาด จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขในทันที ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 คุณมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำขอตรวจสอบ และขอแก้ไขข้อมูลของตัวเองกับเครดิตบูโรได้ โดยติดต่อได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
3. รวมหนี้เป็นก้อนเดียวกัน
หากคุณมีหนี้ค้างชำระจากหลายสินเชื่อ แนะนำว่าให้รวมหนี้โดยการเลือกสินเชื่อทางการเงินที่ให้โอกาสลูกค้าที่เคยมีประวัติค้างชำระในการได้รับการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อนำเงินก้อนนั้นมาปิดหนี้ค้างชำระทั้งหมด รวมถึงเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และทำให้คุณสามารถจัดการชำระหนี้ได้หมดในอนาคต
4. วางแผนการชำระหนี้เสีย
เมื่อคุณจัดการรวมหนี้เรียบร้อยแล้ว อันดับต่อไปก็ต้องมาวางแผนการชำระหนี้เสีย สำหรับคนที่ยังมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่ ให้เริ่มต้นจากการสรุปรายการหนี้ที่ยังคงค้างชำระ เพื่อตั้งงบประมาณรายรับ-รายจ่ายให้เหมาะสม และสร้างวินัยในการผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลาทุกงวด รวมถึงพยายามนำเงินก้อนมาปิดชำระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างสูง
สำหรับคนที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ แนะนำว่าให้วางแผนการชำระหนี้ด้วยการเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้หรือเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้ นอกจากนี้หากมีหนี้สินรายการใหญ่ที่ไม่ได้มีความจำเป็น ก็อาจจะนำไปขายหรือปล่อยเช่า เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ก่อน
5. ชำระหนี้สินให้ตรงเวลา
นอกจากการชำระหนี้เพื่อล้างประวัติเครดิตแล้ว คุณยังควรให้ความสำคัญกับการชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน และสร้างประวัติเครดิตใหม่ในอนาคตให้ดี เพราะจะส่งผลต่อการขอสินเชื่อใหม่ในอนาคตด้วยเช่นกัน
6. สร้างสถานะเครดิตบูโรใหม่
นอกจากการชำระหนี้เก่าแล้ว ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการสร้างสถานะเครดิตบูโรใหม่ให้ดี โดยสร้างวินัยในการชำระหนี้ให้ตรงเวลา รวมถึงหมั่นเช็กบัญชีหนี้สินของตัวเอง เพื่อวางแผนจัดการการเงินและหนี้สินให้ดียิ่งขึ้น
เครดิตบูโรติดกี่ปี
อีกหนึ่งคำถามที่คาใจของหลาย ๆ คนก็คือ ติดเครดิตบูโรกี่ปีหาย? ต้องรอนานเท่าไหนถึงจะมีเครดิตการเงินที่น่าเชื่อถือแบบเดิม เพราะคงไม่มีใครอยากถูกปฏิเสธสินเชื่อในยามจำเป็นอย่างแน่นอน ซึ่งในกรณีที่คุณติดเครดิตบูโร แต่มีการจ่ายหนี้และปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลเครดิตของคุณจะยังถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโรอีก 3 ปี นับจากวันที่ได้รับรายงานข้อมูลการปิดบัญชีจากสถาบันการเงิน และเมื่อครบกำหนด 3 ปีแล้ว บัญชีเครดิตดังกล่าวจะถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลอัตโนมัติ
เครดิตบูโรข้อมูลจะถูกเก็บกี่ปี
เมื่อคุณติดบูโรแล้ว ข้อมูลนี้จะถูกเก็บไว้ในระบบเป็นระยะเวลาตามประเภทของหนี้ โดยทั่วไป บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะเก็บประวัติการชำระเงินย้อนหลัง 3 ปี ถ้าเป็นกรณีปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลจะถูกเก็บอีก 3 ปีหลังจากวันที่ปิดบัญชี และจะทยอยลบออกไปทีละเดือนจนครบกำหนด ทำให้การแก้ไขปัญหาติดเครดิตบูโรใช้เวลาพอสมควร
ติดเครดิตบูโร ใช้เวลากี่ปีถึงจะหลุด
สำหรับผู้ที่ติดบูโรในกรณีหนี้เสีย (NPL) ที่มีการผิดนัดชำระเกิน 90 วัน หากชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ข้อมูลจะยังถูกเก็บไว้อีก 5 ปีนับจากวันที่ชำระครบ ส่วนกรณีหนี้เสียที่ยังไม่ได้ชำระ ข้อมูลจะคงอยู่ 7 ปีนับจากวันที่สัญญาสิ้นสุด นี่คือเหตุผลที่ทำให้การป้องกันไม่ให้ติดเครดิตบูโรตั้งแต่แรกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแก้ไขต้องใช้เวลานาน
ติดเครดิตบูโรเเบบไหนขอสินเชื่อยาก หรือไม่สามารถขอได้
ไม่ใช่ทุกกรณีที่ติดบูโรแล้วจะขอสินเชื่อไม่ได้เลย แต่มีบางลักษณะที่ทำให้การอนุมัติยากมาก เช่น การค้างชำระต่อเนื่องเกิน 90 วัน การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี การถูกอายัดทรัพย์ หรือการพยายามฉ้อโกงสถาบันการเงิน กรณีเหล่านี้ทำให้สถาบันการเงินมองว่าคุณมีความเสี่ยงสูงในการติดเครดิตบูโรซ้ำ จึงมักปฏิเสธการให้สินเชื่อใหม่ แม้คุณจะพยายามล้างเครดิตบูโรแล้วก็ตาม
สรุปบทความ
และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีล้างประวัติเครดิตบูโร ที่เรารวบรวมมาแบ่งปันกันในบทความนี้ สำหรับคนที่กำลังจะขอสินเชื่อ หรือถูกปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อ แนะนำว่าให้ตรวจสอบเครดิตบูโรของตัวเองก่อน หากพบว่ามีข้อมูลผิดพลาด หรือมีประวัติค้างชำระ ก็สามารถนำวิธีที่เรารวบรวมมาไปใช้ได้เลย
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ดอกเบี้ย 15% - 25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด